Jul 28, 2020

Philippe Starck กับการออกแบบเชิงประชาธิปไตย

“เราอยากจะทำความฝันของประชาธิปไตยให้สุกงอม... ให้สิ่งที่ดีที่สุดแก่คนจำนวนมากเท่าที่จะทำได้ และรับพลังสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่”

[“We wanted to bring a democratic dream to fruition… give the best to the most people possible while drawing from the newest ideas and the energy of the young.”]

ส่วนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์ Philippe Starck (โดย Jonathan Wingfield) นักออกแบบผู้มีผลงานหลายชิ้นซึ่งกลายเป็นตำนาน ในขณะที่เขาเองก็เป็นผู้เผยแพร่แนวคิดการออกแบบเชิงประชาธิปไตย (Democratic Design) ซึ่งทำให้การออกแบบทำงานรับใช้ประชาชนจำนวนมาก

Philippe Starck เกิดในปี 1949 แม้จะร่ำเรียนด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และการตกแต่งภายใน แต่ด้วยการมีพ่อเป็นวิศวกรการบิน ทำให้เขาได้ซึมซับและเห็นความสำคัญของ ‘นวัตกรรม’ หรือการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่เป็นประโยชน์ และรู้หลักการทำงานของวัตถุต่างๆ ในเชิงวิทยาศาสตร์

ในช่วงเริ่มต้นการทำงานของ Starck ขณะนั้นศิลปินจำนวนมากยังใช้ผลงานการออกแบบเพื่อรับใช้ชนชั้นสูง แต่ Starck กลับทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม เขาตั้งใจให้ผลงานของเขามีราคาที่คนส่วนใหญ่จะเข้าถึงได้ ในขณะเดียวกันก็ปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้นกว่าของเดิม เขาเชื่อว่าความมีระดับในยุคใหม่คือการผลิตชิ้นงานออกมาเพื่อรับใช้คนจำนวนมากได้ แนวคิดนี้เป็นขั้วตรงข้ามกับแนวคิด ‘limited edition’ เพราะสวนกระแสการให้ความสำคัญกับความหายาก (rarity) และตัดทอนอำนาจของเงิน เพราะไม่ว่าจะมีเงินมากหรือน้อย คนทุกคนก็จะยังสามารถเข้าถึงผลงานออกแบบที่มีคุณภาพดีได้ทั้งหมด

ปัจจุบันผลงานของ Starck มีอยู่นับหมื่นชิ้น ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะ เก้าอี้ กระเป๋า นาฬิกา โคมไฟ ไปจนถึงงานด้านสถาปัตยกรรม ผลงานของเขายังเป็นที่พูดถึงและจดจำได้ เช่น อุปกรณ์คั้นน้ำมะนาว ‘Juicy Salif’ ซึ่งดูเหมือนแมลงต่างดาว เก้าอี้ ‘Louis Ghost’ ที่มีรูปทรงเดียวกันกับเก้าอี้ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ของฝรั่งเศสแต่กลับทำมาจากพลาสติกใสชิ้นเดียว และอาคารของบริษัทผู้ผลิตเบียร์อาซาฮิ ‘Asahi Beer Hall’ ในโตเกียวซึ่งมีก้อนเมฆสีทองวางอยู่บนดาดฟ้า

SolidSprout

ออกแบบเพื่อสร้างสรรค์สังคม