top of page

DESIGN for SOCIAL IMPACTS

อ อ ก แ บ บ เ พื่ อ ส ร้ า ง ส ร ร ค์ สั ง ค ม

หอสังเกตการณ์และการออกแบบเพื่อป้องกันการก่อการร้ายในห้างสรรพสินค้าและพื้นที่สาธารณะ

ทีมงาน SolidSprout พบข้อมูลเกี่ยวกับการออกแบบเพื่อป้องกันการก่อการร้ายที่เขียนไว้ได้น่าสนใจ โดยงานชิ้นนี้เป็นของ Suzi Mirgani ตีพิมพ์ในหนังสือเมื่อปี 2017 ชื่อว่า ’Target Markets - International Terrorism Meets Global Capitalism in the Mall’ หรือแปลเป็นไทยว่า ‘ตลาดกลายเป็นเป้า - เมื่อการก่อการร้ายนานาชาติผนวกกับโลกทุนนิยมในห้างสรรพสินค้า’



สิ่งที่น่าสนใจอยู่ในบทที่ 4 ซึ่งพูดถึงการทำให้ห้างสรรพสินค้าเป็นสถานที่ปลอดภัยหรือรอดพ้นจากการถูกใช้เป็นเครื่องมือในการก่อการร้าย โดยผู้ที่เป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้าจะถูกคาดหวังให้มีส่วนในการสร้างความปลอดภัยนี้ แม้ภาระนี้ดูจะหนักอึ้ง แต่ก็ถือเป็นความรับผิดชอบซึ่งจัดการได้ด้วยการออกแบบที่ดีตั้งแต่แรก


การออกแบบพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัย

0a สถาปัตยกรรมเพื่อความปลอดภัย

ความผิดพลาดหลายอย่างในปัจจุบันมาจากการออกแบบโครงสร้างอาคารที่ปิดกั้นการมองเห็นและส่งเสริมการซุกซ่อนตัว ส่งผลต่อการเคลื่อนตัวของผู้คนที่ซับซ้อน ติดขัด ไม่สามารถป้องกันตัวเอง และไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือได้ สิ่งเหล่านี้แก้ไขได้ด้วยการจัดการกับความสูงของเพดานที่ได้มาตรฐานกับความปลอดภัย การเปิดกว้างของหน้าห้างสรรพสินค้าและทางออกจากพื้นที่ ทางเดินกว้างขวางที่เชื่อมต่อถึงกันหลายทาง และมีพื้นที่โล่งรอบห้างมากเพียงพอ โดยระเบียบของสหราชอาณาจักรถึงกับแนะนำให้พื้นที่รอบห้างสรรพสินค้าควรปราศจากการเข้าใกล้ของยานพาหนะทุกชนิดตลอดรัศมีอย่างน้อย 30 เมตร



0b ระบบเพื่อความปลอดภัย

ระบบพื้นฐานที่ควรมีคือการตรวจเช็คความปลอดภัยของผู้เข้าใช้พื้นที่โดยเจ้าหน้าที่ก่อนที่จะปล่อยให้เข้ามาในพื้นที่ การตรวจสอบนี้อาจทำโดยเจ้าหน้าที่โดยตรงหรือหากต้องการความปลอดภัยที่สูงขึ้นอาจทำได้โดยการตรวจจับโลหะโดยเจ้าหน้าที่ที่ถูกกั้นไว้ภายในผนังนิรภัย ระบบที่เข้ามาช่วยเหลือนี้รวมไปถึงการติดตั้งป้ายเตือนและนำทางไปสู่ทางออกที่มองเห็นได้ชัดเจน การติดตั้งแสงสว่างอย่างเพียงพอและทั่วถึงทุกจุดทั้งกลางวันและกลางคืน การใช้กระจกนิรภัยทั้งในส่วนที่เป็นหน้าต่างและการตกแต่งต่างๆ ซึ่งจะไม่บาดผิวเมื่อแตกละเอียด การเลือกใช้ถังขยะที่ทนต่อแรงระเบิดก็เป็นอีกองค์ประกอบที่เข้ามาช่วยได้ในกรณีที่มีการวางระเบิดลงในถังขยะ รวมไปถึงการติดตั้งและเปิดใช้งานกล้องวงจรปิดให้บันทึกภาพอยู่ตลอดเวลา การจัดการพื้นที่ด้วยการสร้างระบบลักษณะนี้แม้จะดูเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดมาก แต่จะช่วยสร้างพฤติกรรมของคนที่ใช้งานพื้นที่ได้โดยอัตโนมัติ หนึ่งในมาตรการที่ใช้ได้ผลทันทีคือการนำม้านั่งที่ไม่จำเป็นออกไปจากห้าง โดยพบว่าการลดจำนวนม้านั่งจะทำให้เกิดการไหลเวียนของคนในพื้นที่อย่างเสรีมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็กำจัดจุดเสี่ยงในการวางระเบิดและการเตรียมการของผู้ก่อการร้าย และทำให้การสอดส่องดูแลของเจ้าหน้าที่ทำได้ง่ายยิ่งขึ้น



0c หอสังเกตการณ์

นอกเหนือจากการติดตั้งกล้องวงจรปิด หอสังเกตการณ์ก็เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่จะช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถสอดส่องดูแลพื้นที่ทั้งภายในและภายนอกห้างและสังเกตเห็นความผิดปกติได้อย่างทันท่วงที ปัจจุบันหอสังเกตการณ์ถูกลดบทบาทลงเหลือเพียงห้องสังเกตการณ์ที่แอบไว้ในพื้นที่เล็กๆของอาคาร การทำเช่นนี้แม้จะช่วยประหยัดพื้นที่และงบประมาณในการก่อสร้างแต่ก็ขัดกับวิธีการที่มนุษย์ใช้ในการสอดส่องดูแลความผิดปกติรอบตัว ลักษณะของหอสังเกตการณ์แบบเก่าที่เรามักเห็นได้ตามเรือนจำขนาดใหญ่หรือในสนามบิน (หอสังเกตการณ์แบบนี้เรียกว่า Panopticon) ดูจะสอดคล้องกับพฤติกรรมการระแวดระวังภัยของมนุษย์มากกว่า เพราะช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถเห็นภาพรวมของพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว เพราะถูกยกให้สูงกว่าระดับภาคพื้น และเป็นตำแหน่งที่ผู้ก่อการร้ายจะไม่สามารถมองเห็นได้ว่าเจ้าหน้าที่กำลังจับตามองดูอยู่หรือไม่หรือกำลังเตรียมการใดอยู่ โดยหอสังเกตการณ์นี้จะต้องถูกควบคุมจำกัดการเข้าออกอย่างเข้มงวดสูงสุด และหากจะใช้งานได้ดี สถาปัตยกรรมของห้างสรรพสินค้าก็จะต้องถูกออกแบบให้เปิดโล่งเพื่อเข้าถึงการสอดส่องได้ด้วยเช่นกัน



อ่านข้อมูลของ Mirgani (ภาษาอังกฤษ) ได้ที่นี่ https://www.jstor.org/stable/pdf/j.ctv1fxdv4.7.pdf


SolidSprout

ออกแบบเพื่อสร้างสรรค์สังคม

bottom of page